วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี


วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี 
จังหวัดแพร่


วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี เป็นวัดที่สวยงามตามลักษณะของสถาปัตยกรรมล้านนาแบบผสมผสาน ที่หลวงพ่อมนตรีได้จำลองรูปแบบมาจากวัดสำคัญๆของภาคเหนือ และจากประเทศอื่นได้แก ่พม่า จีน และลาว โดยเลือกเอาจุดเด่นของแต่ละแห่งมารวบรวมไว้ที่วัดนี้ เป็นการผสมผสานที่ลงตัว ทำให้มีลักษณะต่างจากวัดทั่วไป นอกจากจะนำเอาสุดยอดงานด้านพุทธศิลป์ของล้านนาที่มีชื่อเสียงมารวมกันไว้ที่เดียวแล้ว ยังต้องระดมช่างที่มีฝีมือเป็นเลิศ ออกแบบและก่อสร้างให้กลมกลืนกันอีกด้วย

ออกจะเป็นเรื่องแปลกและน่าอัศจรรย์ หากใครได้มาเห็นวัดพระธาตุสุโทน ที่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ แล้วมีคนบอกว่า ทั้งหมดที่เห็นนี้เป็นฝีมือของเจ้าอาวาสที่อายุเพียงแค่ 30 กว่าปี ชื่อหลวงพ่อมนตรี หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ครูบาน้อย


บางคนอาจบอกว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ว่าเป็นไปได้ยังไงที่พระรูปหนึ่ง อดีตเป็นเด็กลูกชาวนาในพื้นที่ อ.เด่นชัย เคยเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย และเรียนหนังสือแค่ชั้นประถมปีที่ 7 จากนั้นก็ต้องออกด้วยเหตุผลเพราะต้องการบวช


จนถึงปี 2521 (ขณะอายุ 18 ) ก็เริ่มก่อสร้างวัด จากนั้นอีก 17 ปี ก็แล้วเสร็จ และได้ทำพิธีฝังลูกนิมิตเมื่อปี 2540 โดยสมเด็จพระบรมฯเสด็จแทนพระองค์


หลวงพ่อมนตรีมีความรู้ความชำนาญในเชิงช่างมาจากไหน และทำไมถึงเก่งขนาดนี้.....


หลวงพ่อมนตรี เดิมชื่อเด็กชายมนตรี บุญมี เกิด พ.ศ. 2503 มีความสนใจพุทธศาสนา และสนใจงานปั้นมาแต่เด็ก ชอบปั้นพระมาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เมื่ออายุได้ 9 ปี เคยปั้นพระหน้าตักกว้าง 3 ศอก ไว้กลางทุ่งนาแถวบ้านป่าหวาย อ.เด่นชัย โดยใช้เวลาปั้นแค่วันเดียว


เมื่อบวชเรียนก็ศึกษางานปั้นจากช่างอาวุโสที่สอนหล่อพระหล่อระฆัง จากคุณตาหมื่น บุญยเวทย์ วัย 85 และคุณตาอยู่ คะณา วัย 80 ปี จากบ้านเตว็จ จังหวัดสุโขทัย จากนั้นก็ได้รับการถ่ายทอดการปั้นพระและสร้างวิหารจากครูบาคัมภีระปัญญา วัดเฟือยลุง จ.น่าน

การสร้างวัด 
หลวงพ่อมนตรี ได้นำเอาจุดเด่นของวัดหลายแห่งมาประยุกต์ไว้ที่วัดนี้ จากการที่ได้ตระเวณตามวัดต่างๆทางภาคเหนือและดินแดนล้านนาในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน เมืองเชียงตุง พม่า และจากประเทศลาว เพื่อศึกษารูปแบบของศิลปะล้านนาที่บรรพบุรุษได้สรรสร้างไว้ ทั้งงานปั้น งานแกะสลัก รวมทั้งจิตกรรมฝาผนัง พร้อมกันนี้ก็ได้เสาะหาช่างฝีมือเอกของล้านนามาร่วมงานสร้างวัดพระธาตุสุโทน บนที่ดิน 25 ไร่ ของดอยม่อนทอง ที่ได้รับการบริจาคจากชาวบ้าน ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ปลูกฝ้ายมาก่อน


คำว่า ครูบา ตามประเพณีของล้านนาแล้วจะได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการตามจารีตประเพณี โดยจะมีพระเถระเป็นกรรมการ พิจารณาความเหมาะสมว่าสมควรได้รับสมณะครูบา นั่นก็คือจะต้องได้รับการยอมรับและผ่านความเห็นชอบจากคณะสงฆ์ว่าได้ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม และนอกจากจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสงฆ์แล้ว ยังต้องได้รับการยอมรับ เห็นพ้องจากสังคมชาวบ้านด้วย


ปัจจุบันการแต่งตั้งครูบาในเมืองไทยไม่มีแล้ว แต่ที่เชียงตุงยังสืบสานประเพณีโบราณนี้อยู่ และในปันั้นมีพระจากภาคเหนือและประเทศทางแถบล้านนาได้รับเลื่อนสมณะศักดิ์เป็นครูบาจำนวน 5 รูป


สถานที่ตั้งวัด
             ตั้งอยู่บนถนนหมายเลข 101 เด่นชัย-ลำปาง ห่างจากสี่แยกเด่นชัยประมาณ 5 กม. อยู่ห่างจากจังหวัดแพร่ประมาณ 30 กม. ตั้งอยู่ ณ บ้านห้วยน้ำพริก หมู่ที่5 ต.เด่นชัย อ.เด่นชัย จ.แพร่ สถานที่ใกล้เคียง ได้แก่ กองพันทหารม้าที่ 12




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น