วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร


วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร
จังหวัดเชียงใหม่



วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร เป็นวัดที่มีความสำคัญในแง่ประวัติศาสตร์และเป็นวัดท่องเที่ยว ซึ่งเป็นที่รู้จักของประชาชนชาวไทยโดยทั่วไป ในฐานะที่เป็นวัดที่มีความศักดิ์สิทธิ์มากวัดหนึ่งของประเทศไทย ตั้งอยู่บนยอดดอยสุเทพห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 14 กิโลเมตร อยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,053 เมตร อยู่ในเขตตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

  

ประวัติ


วัดพระธาตุดอยสุเทพ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๒๙ ในสมัยพญากือนาธรรมิกราช กษัตริย์องค์ที่ ๘ แห่งอาณาจักรล้านนา ราชวงศ์เม็งราย พระองค์ทรงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุองค์ใหญ่ ที่ได้ทรงเก็บไว้สักการะบูชาส่วนพระองค์ถึง ๑๓ ปี มาบรรจุไว้ที่นี่ ด้วยการทรงอธิษฐานเสี่ยงช้างมงคลเพื่อเสี่ยงทายสถานที่ประดิษฐาน พอช้างมงคลเดินมาถึงยอดดอยสุเทพ มันก็ร้องสามครั้ง พร้อมกับทำทักษิณาวัติสาม รอบ แล้วล้มลง พระองค์จึงโปรดเกล้าฯให้ขุดดินลึก ๘ ศอก กว้าง ๖ วา ๓ ศอก หาแท่นหินใหญ่ ๖ แท่น มาวางเป็นรูปหีบใหญ่ในหลุม แล้วอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงประดิษฐานไว้ จากนั้นถมด้วยหิน แล้วก่อพระเจดีย์สูง ๕ วา ครอบบนนั้น ด้วยเหตุนี้จึงห้ามพุทธศาสนิกชนที่ไปนมัสการสวมรองเท้าใน บริเวณพระธาตุ และมิให้สตรีเข้าไปบริเวณนั้น 



ในปี พ.ศ. ๒๐๘๑ สมัยพระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์องค์ที่ ๑๒ ได้ทรงโปรดฯให้เสริมพระเจดีย์ให้สูงกว่าเดิม เป็นกว้าง ๖ วา สูง ๑๑ ศอก พร้อมทั้งให้ช่างนำทองคำทำเป็นรูปดอกบัวทองใส่บนยอดเจดีย์ และต่อมาเจ้าท้าวทรายคำ ราชโอรสได้ทรงให้ตีทองคำเป็นแผ่นติดที่พระบรมธาตุ

ในปี พ.ศ. ๒๑๐๐ พระมหาญาณมงคลโพธิ์ วัดอโศการาม เมืองลำพูนได้สร้างบันไดนาคหลวงทั้ง ๒ ข้าง เพื่อให้ประชาชนขึ้นไปสักการะได้สะดวกขึ้น และกระทั่งถึงสมัยครูบาศรีวิชัย ท่านได้สร้างถนนขึ้นไป โดยถนนที่สร้างนี้มีความยาวถึง ๑๑.๕๓ กิโลเมตร
พ.ศ. ๒๓๔๘ พระเจ้าบรมราชานรบดีศรีสุริยวงศ์ องค์อินทรสุรศักดิ์ สมญามหาขัตติยะราช ชาติราไชยมไหสวรรค์ เจ้าขอบขันธเสมาพระนครพิงค์เชียงใหม่

โปรดให้บูรณะปฎิสังขรณ์พระบรมธาตุและสร้างวิหารสองหลัง

และเริ่มงานประเพณีขึ้นดอยเพื่อไปทำบุญในวันแปดเป็ง (เหนือ) หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (วันวิสาขบูชา)

พ.ศ. ๒๔๗๘ ครูบาศรีวิชัย (นักบุญแห่งล้านนาไทย) ได้เชิญชวนให้ประชาชนชาวเหนือ

ร่วมแรงงานร่วมใจกันสร้างถนนจากเชิงดอยขึ้นไปสู่ วัดพระธาตุฯ โดยเริ่มลงมือเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๘ 

แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ในเวลาเพียง ๔ เดือน ๒๒ วันเท่านั้น 

รวมระยะทางประมาณ ๑๔ กิโลเมตร
รอบองค์พระบรมธาตุ ประกอบด้วยสิ่งสำคัญ ๕ ประการ ได้แก่
๑. ฉัตร ๔ มุม ทำด้วยทองเหลือง สร้างโดยพระเจ้ากาวิละ กษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่

เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๘ มีความหมายว่า ฉัตรเป็นสัญลักษณ์ของความร่มเย็น 

ซึ่งแสดงให้ถึงความสงบร่มเย็นที่ได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนาที่แผ่ไปใน ทั้ง ๔ ทิศ

๒. สัตติบัญชร หรือ รั้วหอก ที่อยู่รอบพระธาตุ 

ซึ่งมีที่มาจากเหตุการณ์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุของโทณพราหมณ์ 

เมื่อภายหลังการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ 

เนื่องจากเกิดเหตุการณ์แย่งพระบรมสารีริกธาตุของเมืองต่างๆ เพื่อนำไปไว้บูชาประจำเมือง 
โทณพราหมณ์จึงทำหน้าที่แบ่ง โดยให้ทหารถือหอกรอบล้อมพระบรมสารีริกธาตุไว้ 
เพื่อป้องกันการแย่งชิง จึงเป็นที่มาของรั้วหอกรอบพระบรมธาตุ 
๓. หอยอ ลักษณะเหมือนวิหารขนาดเล็ก ประจำอยู่ ๔ ด้าน ของพระบรมธาตุ 
ภายในมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ มีความหมายถึงการบูชาหรือสรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้า 
(ยอคุณ)

๔. หอท้าวโลกบาล ซึ่งเป็นหอยอดแหลมขนาดเล็ก ประจำอยู่ ๔ มุมของพระบรมธาตุ 

หมายถึง ที่ประดิษฐานของท้าวโลกบาลทั้ง ๔ ซึ่งเป็นเทพที่ปกปักรักษาสิ่งสำคัญต่างๆ ๔ ทิศ

ทำหน้าที่รักษาพระบรมธาตุ ได้แก่ 

๑. ท้าวกุเวร หรือท้าวเวสสุวรรณ มียักษ์เป็นบริวาร ทำหน้าที่เฝ้ารักษาทิศเหนือ 
๒. ท้าวธตรัฐ มีพวกคนธรรพ์เป็นบริวาร ทำหน้าที่รักษาทิศตะวันออก 
๓. ท้าววิรูฬปักข์ มีฝูงนาคเป็นบริวาร ทำหน้าที่รักษาด้านทิศตะวันตก 
๔. ท้าววิรุฬหก มีอสูรเป็นบริวาร ทำหน้าที่รักษาด้านทิศใต้ 
๕. ไหดอกบัว หรือ ปูรณะฆะฏะ (ปูรณะ แปลว่า เต็ม,สมบูรณ์, ฆฏะ แปลว่า หม้อ) 
แปลว่า หม้อที่แสดงถึงความสมบูรณ์ ซึ่งหมายถึงความเจริญรุ่งเรื่องของพระพุทธศาสนาในล้านนา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น