วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556


ประวัติความเป็นมาของภาคเหนือ

ภาคเหนือ


                     เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย พื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย มีอาณาเขตติดกับประเทศพม่า จีน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทางด้านการปกครอง ภาคเหนือประกอบด้วยจังหวัดต่าง ๆ 15 จังหวัด คือ พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และแม่ฮ่องสอน (สนิท สมัครการ 2520:2)ทั้ง 15 จังหวัดนี้แม้จะรวมกันเรียกว่าภาคเหนือ ก็ยังมีลักษณะเฉพาะที่ต่างกันอยู่บ้าง เช่น กลุ่มพิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย กำแพงเพชร มักเรียกว่าภาคกลางตอนบน เพราะวัฒนธรรมมีส่วนคล้ายกับภาคกลาง จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีวัฒนธรรมที่มีลักษณะเป็นกลุ่มไทยใหญ่ผสมกับพม่า เพชรบูรณ์ ลักษณะโน้มไปทางภาคอีสานที่เป็นกลุ่มวัฒนธรรมภาคเหนือจริง ๆ คือ จังหวัดลำปาง ลำพูน เชียงใหม่เชียงราย พะเยา กลุ่มจังหวัดดังกล่าวนี้เรียกว่า คนเมือง หรือ ยวน หรือ ไทยยวนซึ่งหมายถึงโยนก ส่วนจังหวัดแพร่ และน่าน ก็มีลักษณะของตัวเองเช่นเดียวกัน


ภาคเหนือในด้านประวัติศาสตร์



                    เดิมคนไทยแยกกันอยู่เป็นกลุ่ม ๆ กระจัดกระจายอยู่ในแหลมอินโดจีน ชาวไทยที่อยู่ทางภาคเหนือจะตั้งบ้านเรือนอยู่พื้นที่ราบระหว่างเขา เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คนไทยที่อยู่ทางเหนือมีการสร้างบ้านแปงเมือง มีกษัตริย์ปกครองสืบมา ที่ปรากฏชัดเจนคือ อาณาจักรน่านเจ้าอยู่บริเวณแคว้นยูนนานของจีน อาณาจักรนี้ถูกจีนตีแตกเมื่อ พ.ศ. 1796 (กองวัฒนธรรม 2539:41) หลังจากนั้นอาณาจักรเชียงแสนซึ่งเริ่มตั้งเมืองมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16 ก็เริ่มขยายเป็นอาณาจักรขึ้นแทน ครั้นถึงพุทธศตวรรษที่ 18 คนไทยกลุ่มใหญ่ที่สุดก็รวมตัวกันตั้งบ้านเมืองแยกเป็น 3 อาณาจักรชัดเจน คือ อาณาจักรเชียงแสนอยู่ทางภาคเหนือ อาณาจักรสุโขทัยอยู่ภาคกลางและภาคใต้ อาณาจักรล้านช้างคือดินแดนฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขง ปัจจุบันคือประเทศลาวและภาคอีสานของไทย

พญามังรายผู้ก่อตั้งอาณาจักรล้านนา
     พญามังรายเป็นโอรสของพญาลาวเมง และนางอั้วมิ่งจอมเมือง (นางเทพคำข่ายหรือคำขยาย) ธิดาท้าวรุ่งแก่นชายเมืองเชียงรุ่ง พญามังรายครองเมืองเงินยาง พ.ศ.1804 ต่อมาขยายอาณาเขตและยึดเมืองหริภุญชัย (เมืองลำพูน) ได้ราว พ.ศ. 1835 สร้างเวียงกุมกามราว พ.ศ. 1837 แต่พื้นที่ตั้งเมืองเป็นที่ลุ่ม น้ำท่วม จึงสร้างเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.1839 เชียงใหม่จึงเป็นศูนย์กลางแห่งอาณาจักรล้านนาต่อมา (สรัสวดี อ๋องสกุล 2539:101-107)
าณาจักรล้านนามีวิวัฒนาการแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
  1. สมัยสร้างอาณาจักร (พ.ศ.1839-1898) เริ่มจากพญามังรายสร้างเมือง รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ในแอ่งเชียงรายและขยายอำนาจลงสู่แอ่งเชียงใหม่ ลำพูน โดยรวบรวมเมืองสำคัญไว้ ได้แก่ เชียงราย เชียงแสน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา และมีการส่งราชบุตรไปครองเมืองเชียงตุง เมืองนาย เป็นต้น มีกษัตริย์ปกครองต่อกัน 5 พระองค์ จนถึงสมัยพญาผายู
  2. สมัยอาณาจักรล้านนารุ่งเรือง (พ.ศ.1898-2068) เริ่มตั้งแต่สมัยพญากือนาจนถึงสมัยพญาแก้ว เป็นระยะเวลา 170 ปี ความเจริญสูงสุด คือ สมัยของพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ.1984-2030) สมัยนี้ได้รับยกย่องว่าเป็นยุคทองแห่งล้านนาไทย ได้ขยายอาณาเขตถึงเมืองแพร่ เมืองน่าน แผ่อิทธิผลถึงรัฐฉาน และเมืองหลวงพระบางด้วย ด้านพุธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง มีการสังฆายนาพระไตรปิฏก ครั้งที่ 8 ของโลก
  3. สมัยอาณาจักรล้านนาเสื่อมและสลาย (พ.ศ.2068-2101) เริ่มตั้งแต่สมัยพญาเกศเชษฐราชจนตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าเป็นเวลา 33 ปี ครั้น พ.ศ. 2101 สมัยท้าวแม่กุ บุเรนองก็ยึดเชียงใหม่ จากนั้นล้านนาก็ตกอยู่ใต้อำนายพม่าถึง 200 ปีเศษ จนถึง พ.ศ.2317 สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เชียงใหม่จึงเป็นเมืองประเทศราชของไทย ต่อมาหัวเมืองทางภาคเหนือก็เป็นจังหวัดต่าง ๆของราชอาณาจักรไทย และมีความเจริญก้าวหน้าตามลำดับจนถึงปัจจุบัน

ลำดับกษัตริย์แห่งล้านนา
1. พญามังราย
ครองราชสมบัติ
พ.ศ. 1804-1854
2. พญาไชยสงคราม
พ.ศ. 1854-1868
3. พญาแสนพ
พ.ศ. 1868-1877
4. พญาคำฟู
พ.ศ. 1877-1879
5. พญาผายู
พ.ศ. 1879-1898
6. พญากือนา
พ.ศ.1898-1928
7. พญาแสนเมืองมา
พ.ศ.1928-1944
8. พญาสามฝั่งแกน
พ.ศ.1945-1984
9. พระเจ้าติโลกราช
พ.ศ. 1984-2030
10. พญายอดเชียงราย
พ.ศ. 2030-2038
11. พญาแก้ว
พ.ศ.2038-2068
หลังจากพญาแก้ว อาณาจักรล้านนาก็ตกอยู่ในอำนาจของพม่า

เจ้าเมืองเชียงใหม่ในฐานะเมืองประเทศราชของไทย

1. พระจ้ากาวิละ
ครองราชสมบัติ
พ.ศ. 2325-2356
2. พระยาธรรมลังกา
พ.ศ. 2358-2364
3. พระยาคำฟั่น
พ.ศ. 2366-2368
4. พระยาพุทธวงศ์
พ.ศ. 2369-2389
5. พระเจ้ามโหตรประเทศ
พ.ศ. 2390-2397
6. พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์
พ.ศ. 2399-2413
7. พระเจ้าอินทวิชยายนนท์
พ.ศ. 2416-2439
8. พระเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์
พ.ศ. 2444-2452
9. พลตรีเจ้าแก้วเนาวรัฐ
พ.ศ.2454-  2482




วิถีชีวิตและความเป็นอยู่



                   คนไทยในอาณาจักรล้านนามีชีวิตและความเป็นอยู่โดยการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา หุบเขา มีพื้นที่ราบจำนวนน้อย คือ ประมาณ1/4 ของพื้นที่ทั้งหมด ชาวบ้านทำนาแบบนาทดน้ำ พื้นที่สูงปลูกข้าวไร่ พื้นที่ที่ราบในแอ่งเขาอุดมสมบูรณ์ ปลูกข้าว และพืชอื่น ๆ ได้ดี คือ พื้นที่ราบแอ่งเชียงใหม่ ลำพูน และแอ่งเชียงราย ส่วนลำปาง แพร่ น่าน ผลิตข้าวได้น้อย ระบบเศรษฐกิจเป็นแบบผลิตเพื่อให้พออยู่พอกิน การติดต่อค้าขายระหว่างกันก็จะเป็นประเภทวัวต่าง สินค้ามีของป่า เกลือ ผ้า อัญมณี เป็นต้น ส่วนการค้าขายในหมู่บ้านก็จะมี “กาดมั่ว” ใครมีของอะไรก็นำมาวางขายได้
     คนไทยภาคเหนือนิยมปลูกบ้านอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นหมู่บ้าน หากพื้นที่ใดอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำนา มีแม่น้ำไหลผ่าน ก็จะมีหมู่บ้านตั้งเป็นระยะ ๆ เรื่อยไปตามแม่น้ำ ลักษณะบ้านจะเป็นบ้านไม้ยกสูง มีใต้ถุนโล่ง เป็นที่เก็บของเครื่องมือทำเกษตร และเป็นที่ทำงานหรือพักผ่อนยามว่างได้ด้วย บ้านของชาวเหนือนิยมมุงกระเบื้องหรือชาวบ้านเรียกว่าดินขอ หรือบางครั้งก็มุงด้วยแผ่นไม้สักซึ่งทำเป็นแผ่นเล็ก ๆ แต่โตกว่าแผ่นกระเบื้อง แผ่นไม้สักนี้จะทนแดดทนฝน ถ้าคัดเลือกไม้อย่างดีจะอยู่ได้เกิน 50 ปีขึ้นไปเลยทีเดียว
     ถัดจากบ้านก็จะเป็นยุ้งข้าวขนาดใหญ่เล็กตามฐานะ นอกจากนั้นก็จะมีสัตว์เลี้ยง เช่น ไก่ เป็ด วัว ควาย ม้า ถัดบ้านก็เป็นสวนผลไม้ซึ่งรวมถึงพืชผักที่ใช้ประกอบอาหารด้วย
ชาวล้านนามีลักษณะเหมือนคนไทยทั่วไป แต่เป็นเชื้อสายไทยยวน หรือโยนก คนล้านนาเองเรียกคนกลุ่มเดียวกันว่า “คนเมือง” ลักษณะเด่นกว่าคนไทยกลุ่มอื่นคือ ผิวค่อนข้างขาว รูปร่างสันทัดไม่สูง ไม่เตี้ยเกินไป ส่วนใหญ่รูปร่างผอมบาง มีภาษาที่เป็นภาษาถิ่นของตัวเอง หรือที่เข้าใจกันว่า “คำเมือง” ภาษาไทยเหนือมีระบบตัวอักษรบันทึกที่เรียกว่า “อักษรล้านนา” บันทึกเรื่องราวทางพุทธศาสนา คัมภีร์ต่าง ๆ ตลอดจนกฎหมายและความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน อักษรล้านนานี้ดัดแปลงมาจากอักษรมอญเดิม มีอายุรุ่นเดียวกับอักษรพ่อขุนรามคำแหง หรืออาจเก่ากว่านั้นอีก

อาชีพของคนภาคเหนือ


                  ชาวเหนือส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ทำไร่ การทำนาส่วนใหญ่จะเป็นนาดำ ที่ลุ่มมาก ๆ จึงทำนาหว่าน คนเหนือปลูกข้าวเหนียวกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะบริโภคข้าวเหนียว ข้าวเหนียวภาคเหนือถือเป็นข้าวที่มีคุณภาพดี นึ่งสุกแล้วขาวสะอาด อ่อนและนิ่มน่ารับประทาน ข้าวพันธ์ที่มีชื่อเสียง คือ ข้าวสันป่าตอง นอกจากทำนาแล้วยังปลูกพืชไร่อื่น ๆ เช่น หอม กระเทียม ถั่ว ยาสูบ เป็นต้น นอกจากปลูกข้าวแล้ว อาชีพทำสวนก็เป็นที่นิยมกัน โดยเฉพาะทำสวนลำไย และลิ้นจี่ นอกจากจะขายให้คนไทยได้รับประทานแล้ว ยังส่งขายต่างประเทศอีกด้วย
     ยังมีอาชีพอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชาวเหนือ คือ การทำเมี่ยง ชาวเหนือชอบกินหมากและอมเมี่ยง โดยเอาใบเมียงที่เป็นส่วนใบอ่อนมาหมักให้มีรสเปรี้ยวอมฝาด เมื่อหมักนานได้ที่ เวลาจะเอาใบเมี่ยงมาอม ก็ผสมเกลือเม็ดหรือของกินอย่างอื่นแล้วแต่ชอบ นอกจากการอมเมี่ยง คนล้านนาทั้งหญิงและชายจะสูบบุหรี่ที่มวนด้วยใบตองกล้วย มวนหนึ่งขนาดเท่านิ้วมือ และยาวเกือบคืบ ชาวบ้านเรียกบุหรี่ชนิดนี้ว่า “ขี้โย” หรือ “บุหรี่ขี้โย” ที่นิยมสูบกันมากอาจเนื่องมาจากอากาศหนาวเย็น การสูบบุหรี่คงทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น นอกจากอาชีพเกษตรกรรม ชาวเหนือยังประกอบอาชีพอื่น อาจเรียกได้ว่าเป็นหัตถกรรมหรืออุตสาหกรรมในครัวเรือนก็ได้ คือ ผู้หญิงจะทอผ้าเมื่อเสร็จจากการทำนา นอกจากนั้นยังมีการแกะสลัก การทำเครื่องเงิน เครื่องเขิน และการทำเครื่องเหล็ก เป็นต้น


การแต่งกาย



     การแต่งกายของคนภาคเหนือที่เป็นชาวบ้านทั่วไป ชายจะนุ่งกางเกงขายาวลักษณะแบบกางเกงขายาวแบบ 3 ส่วน เรียกติดปากว่า “เตี่ยว” หรือ เตี่ยวสะดอ ทำจากผ้าฝ้าย ย้อมสีน้ำเงินหรือสีดำ ส่วนเสื้อก็นิยมสวมเสื้อผ้าฝ้ายคอกลม แขนสั้น แบบผ่าอก กระดุม 5 เม็ด สีน้ำเงินหรือสีดำ เช่นเดียวกัน เรียกว่า เสื้อม่อฮ่อม ชุดนี้ใส่เวลาทำงาน

     สำหรับหญิงชาวเหนือจะนุ่งผ้าซิ่น(ผ้าถุง)ยาวเกือบถึงตาตุ่ม นิยมนุ่งทั้งสาวและคนแก่ ผ้าถุงจะมีความประณีต งดงาม ตีนซิ่นจะมีลวดลายงดงาม ส่วนเสื้อจะเป็นเสื้อคอกลม มีสีสัน ลวดลายสวยงามเช่นเดียวกัน เรื่องการแต่งกายนี้ หญิงชาวเหนือจะแต่งตัวให้สวยงามอยู่เสมอ ชาวเหนือถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ จนถึงกับมีคำสุภาษิตของชาวเหนือสั่งสอนสืบต่อกันมาเลยว่า

ตุ๊กบ่ได้กิน  บ่มีไผตามไฟส่องต้อง
ตุ๊กบ่ได้นุ่งได้ย่อง ปี้น้องดูแควน

     ทุกข์(จน)ไม่มีจะกิน (อิ่มหรือหิว) คนไม่รู้ (ไม่มีใครเอาไฟมาส่องดูในท้องได้) ทุกข์(จน)เพราะไม่มีอะไรมาแต่งตัว (คนเห็น) ญาติพี่น้องดูถูกเอาได้



ศาสนาและความเชือ

                 คนภาคเหนือก็เหมือนกับคนไทยส่วนใหญ่ ความเชื่อแต่เดิมก็เชื่อเรืองผีเช่นเดียวกัน แต่ละบ้าน แต่ละตระกูลก็จะมีผีประจำบ้าน ประจำตระกูล ดังนั้น แต่ละหมู่บ้านหรือแต่ละบ้านก็มีประเพณีเลี้ยงผี เช่น ผีปู่ย่า ผีมด ผีเมง ผีเสื้อเมือง เป็นต้น เมื่อพุทธศาสนาแพร่มายังภาคเหนือ คนไทยภาคเหนือก็รับเอาพุทธศาสนาเป็นสรณะ ชาวเหนือเป็นพุทธมามกะที่ดีและปฏิบัติศาสนกิจเคร่งครัดมาก แทบทุกหมู่บ้านจะมีวัดประจำหมู่บ้าน พ่อแม่ที่มีลูกชายจะนิยมให้ลูกชายบวชเรียน และนิยมให้ลูกชายบวชเณร ที่แม่ฮ่องสอน เรียกว่า ประเพณีบวชลูกแก้ว เมื่อลูกชายย่างเข้า 9 ปี พ่อแม่ถือลูกชายยังบริสุทธิ์ผุดผ่อง เหมาะที่จะบวช จึงทำพิธีบวชลูกแก้ว พิธีนี้จัดกันอย่างใหญ่โต แต่ละครอบครัวที่มีลูกชายวัยเดียวกันมักจะนัดมาบวชพร้อมกัน มีการแต่งตัวให้นาคอย่างงดงามเหมือนเครื่องทรงกษัตริย์ เมื่อเข้าขบวนแห่ก็ให้ขึ้นหลังม้ากางสัปทน (ร่ม) จัดขบวนแห่อย่างสวยงามไปบวชที่วัด เมื่อบวชเป็นเณรก็เรียนหนังสือศึกษาพุทธศาสนาที่วัด พออายุได้ประมาณ 19 ปีก็ลาสิกขา แล้วจะมีคำนำหน้าว่า “น้อย” เช่น น้อยไชยา ส่วนผู้ที่บวชเป็นพระต่อถ้าสึกออกมาเป็นฆราวาสก็จะมีคำนำหน้าว่า “หนาน เช่น หนานโฮะ หนานอินตา เป็นต้น